เมื่อไม่นานมานี้ หลายพื้นที่ในประเทศไทยได้สัมผัสแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวขนาด 7.7 ริกเตอร์ในประเทศเมียนมาร์ ที่เรียกได้ว่าเป็นแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในรอบหลายสิบปีที่ประชาชนในกรุงเทพมหานคร ภาคกลาง และภาคเหนือของประเทศสามารถรับรู้ได้เป็นวงกว้าง ซึ่งก็แทบจะเป็นตัวกระตุ้นให้คนไทยเริ่มตั้งคำถามว่า “เราพร้อมหรือยังหากเกิดเหตุการณ์ใหญ่กว่านี้?”
ในอดีต แผ่นดินไหวมักถูกมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวของคนไทย เพราะส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นในต่างประเทศ หรือในพื้นที่ทางภาคเหนือ และมีความรุนแรงที่ไม่มากนัก แต่เหตุการณ์ในปัจจุบันที่มีความรุนแรงขึ้น และกระทบเป็นวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ อาจจะกำลังบอกเราว่า ธรรมชาติไม่เคยเลือกพื้นที่อย่างชัดเจน และไม่เคยแจ้งล่วงหน้า
ด้วยบริบทแบบนี้ เราจึงควรหันกลับมาทบทวนว่า “เรารู้จักแผ่นดินไหวดีแค่ไหน?” “ถ้ามันเกิดขึ้นจริง เราจะทำอย่างไร?” และ “โครงสร้างพื้นฐานของเราเหมาะสมแค่ไหนกับการรับมือภัยธรรมชาติประเภทนี้?”
ล่าสุด Milieu Insight ได้จัดทำแบบสอบถามในประเทศไทยเพื่อสำรวจระดับความรู้ ความตระหนัก และความพร้อมของประชาชนต่อสถานการณ์แผ่นดินไหว โดยเฉพาะกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในเมืองหรือพื้นที่เสี่ยง ซึ่งผลสำรวจดังกล่าวได้สะท้อนภาพที่น่าสนใจไม่น้อยเกี่ยวกับพฤติกรรมและทัศนคติของคนไทยต่อภัยพิบัตินี้
ประสบการณ์ยังน้อย ความรู้ยังไม่แน่น
ผลสำรวจพบว่า 74% ของผู้ตอบแบบสอบถามไม่เคยมีประสบการณ์แผ่นดินไหวมาก่อน และนี่ถือเป็นครั้งแรกที่รู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือน ข้อมูลนี้สะท้อนว่าแผ่นดินไหวยังเป็นสิ่งใหม่สำหรับคนไทยส่วนใหญ่ และอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนจำนวนมากยังขาดความเข้าใจหรือไม่รู้วิธีรับมือเมื่อเกิดเหตุจริง
ขณะเดียวกัน เมื่อสอบถามว่า “ตอนเกิดแรงสั่นสะเทือน คุณคิดว่าเป็นอะไร ?” ผลสำรวจระบุว่ามากกว่าครึ่ง (53%) คิดว่าตัวเองเวียนหัว หรือจะเป็นลม (รวมไปถึงผู้เขียนด้วยเช่นกัน) สิ่งนี้เองอาจจะส่งผลกระทบในอนาคตหากเกิดเหตุการณ์ขึ้นอีก เพราะอาจจะทำให้เกิดการอพยพที่ล่าช้า และส่งผลให้เกิดอันตรายได้หากสถานการณ์ร้ายแรงมากขึ้น
การสื่อสารในสถานการณ์ฉุกเฉินยังไม่ทั่วถึง
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือเรื่องการแจ้งเตือนและการสื่อสารช่วงเกิดเหตุ พบว่า 72% ของคนที่ตอบแบบสอบถามบอกว่าไม่ได้รับการแจ้งเตือนจากหน่วยงานรัฐหรือระบบอัตโนมัติใด ๆ เช่น SMS หรือแอปฯ ขณะที่เมื่อถามว่าอยากได้รับการแจ้งเตือนผ่านช่องทางใดมากที่สุด 59% ระบุว่า SMS เป็นช่องทางที่เหมาะสมที่สุด ผลลัพธ์นี้แสดงให้เห็นช่องว่างสำคัญระหว่างความคาดหวังของประชาชน กับประสิทธิภาพของระบบเตือนภัยที่ใช้งานจริงในปัจจุบัน ว่ายังทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ทำให้ประชาชนบางคนอาจจะไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น และไม่ตระหนักถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นนั่นเอง
คนไทยส่วนใหญ่ยัง “ไม่รู้จะทำอะไร”
เมื่อถามถึงพฤติกรรมในช่วงที่เกิดแรงสั่นสะเทือน คำตอบที่ได้อาจทำให้หลายคนต้องหันกลับไปถามตัวเองว่า “เราจะทำยังไงถ้าเกิดขึ้นอีก?” เพราะมีเพียง 16% เท่านั้นที่ตอบว่ารู้ทันทีว่าเป็นแผ่นดินไหว ขณะที่ 53% คิดว่าเป็นลมเวียนหัวหรืออาการวิงเวียนอื่น ๆ และอีก 11% ไม่แน่ใจว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ สิ่งนี้บ่งชี้ว่า การสื่อสารความรู้เกี่ยวกับแผ่นดินไหวยังไม่ถูกส่งต่อสู่ประชาชนในวงกว้าง และยิ่งเมื่อพิจารณาจากพฤติกรรมหลังรู้ว่าเป็นแผ่นดินไหว พบว่ามีเพียง 46% เท่านั้นที่ “รีบออกจากอาคารทันที” ในขณะที่ 14% ยังเลือก “ไม่ทำอะไร และใช้ชีวิตตามปกติ” ถือเป็นสัญญาณเตือนว่าความเข้าใจในการปฏิบัติตนยังไม่เพียงพอ
สื่อโซเชียลคือแหล่งข้อมูลหลัก
เมื่อถามถึงแหล่งข่าวสารที่คนไทยใช้ติดตามข้อมูลเรื่องแผ่นดินไหว หลังเกิดเหตุการณ์แล้ว Facebook คือช่องทางที่ถูกเลือกมากที่สุดถึง 31% รองลงมาคือรายการทีวี 17% และ TikTok 15% สะท้อนให้เห็นว่าโซเชียลมีเดียกลายเป็นแหล่งข้อมูลหลักอย่างแท้จริงในสถานการณ์ฉุกเฉิน
แต่ข้อมูลก็มีอีกด้านที่น่ากังวล เพราะในคำถามที่ว่าก่อนเกิดเหตุการณ์เคยได้รับข้อมูลเตรียมพร้อมรับมือแผ่นดินไหวหรือไม่? 47% ตอบว่า “ไม่เคยได้รับข้อมูลมาก่อนเลย” นี่อาจเป็นจุดอ่อนที่ทำให้เกิดการเข้าใจผิด เกิดความสับสน และไม่สามารถตัดสินใจได้ทันท่วงทีว่าจะทำอะไรต่อเมื่อเจอเหตุการณ์จริง
โอกาสในการสื่อสารเชิงรุกยังเปิดกว้าง
แม้หลายคำตอบจะสะท้อนความไม่พร้อมหรือความไม่รู้ แต่ก็มีสัญญาณบวกที่บอกให้เห็นว่าคนไทย “อยากรู้ และอยากเรียนรู้” จากคำถามที่ว่า หากมีการจัดอบรมหรือเวิร์กช็อปเกี่ยวกับแผ่นดินไหวในชุมชนหรือที่ทำงาน คุณสนใจเข้าร่วมหรือไม่? พบว่าถึง 88% สนใจ ตัวเลขนี้สะท้อนความเปิดใจและความพร้อมของคนไทยในการเรียนรู้เพื่อรับมือกับภัยพิบัติ
และเมื่อถามว่าอยากให้หน่วยงานรัฐหรือท้องถิ่นช่วยเหลืออย่างไร พบว่า 72% ต้องการให้มีการแจ้งเตือนล่วงหน้าเมื่อมีความเสี่ยงเกิดแผ่นดินไหว และ 63% อยากได้รับความรู้เรื่องการรับมือ อาจจะเป็นเรื่องที่ดีสำหรับหน่วยงานภาครัฐในการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
ถึงเวลา “เตรียมตัว” อย่างจริงจัง
สิ่งที่เห็นได้ชัดจากข้อมูลทั้งหมดคือ คนไทยยังไม่มีความพร้อมเพียงพอต่อเหตุการณ์แผ่นดินไหว แต่ในขณะเดียวกันก็มีความตื่นตัว และเปิดรับความรู้เกี่ยวกับแผ่นดินไหวมากขึ้น หากหน่วยงานรัฐและเอกชนร่วมมือกันพัฒนาระบบเตือนภัย ระบบการสื่อสาร และจัดกิจกรรมให้ความรู้ในระดับชุมชน รวมถึงการฝึกซ้อมในสถานที่ทำงานหรือโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ ความไม่พร้อมในวันนี้ก็อาจกลายเป็น “ภูมิคุ้มกัน” ที่แข็งแรงในวันข้างหน้า
ในโลกที่ภัยพิบัติไม่ใช่เรื่องของ “ประเทศอื่น” อีกต่อไป เราทุกคนต่างมีหน้าที่ในการเรียนรู้ และเตรียมตัวให้ดีที่สุด เพราะในช่วงเวลาที่ทุกวินาทีนั้นมีค่า การรู้ว่าจะต้องทำอะไรในเวลานั้น อาจเป็นสิ่งที่ช่วยชีวิตได้จริง ๆ