บล็อก
กิจการปัจจุบัน

จับตานโยบายภาษีชุดใหม่ของทรัมป์ และความคิดเห็นจากประชากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เขียนเมื่อ:
April 8, 2025
Rachel Lee
Milieu Insight Insight สงกรานต์ 2025

เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2025 กระแสตอบรับก็เกิดขึ้นทันทีทั่วทั้งภูมิภาค อัตราภาษีที่ประกาศมีตั้งแต่ 49% สำหรับสินค้าจากกัมพูชา ไปจนถึง 10% สำหรับสินค้าจากสิงคโปร์และติมอร์-เลสเต โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • เวียดนาม: 46%
  • กัมพูชา: 49%
  • ลาว: 48%
  • เมียนมา: 44%
  • ไทย: 37%
  • อินโดนีเซีย: 32%
  • บรูไน: 24%
  • มาเลเซีย: 24%
  • ฟิลิปปินส์: 17%
  • สิงคโปร์: 10%
  • ติมอร์-เลสเต: 10%

แม้อัตราจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ แต่สิ่งที่สะท้อนออกมาอย่างเด่นชัดคือความกังวลที่แพร่กระจายไปทั่วภูมิภาค Milieu Insight จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนกว่า 6,000 คน ใน 6 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ เพื่อทำความเข้าใจว่าประชาชนรับรู้และรู้สึกอย่างไรต่อมาตรการใหม่นี้ ผลที่ได้ สะท้อนให้เห็นมากกว่าแค่ระดับการรับรู้ แต่รวมถึงความวิตกกังวลทางเศรษฐกิจอีกด้วย มาศึกษากันว่า ประชากรในภูมิภาคนี้ มีความคิดเห็นอย่างไรกับนโยบายนี้บ้าง

ยิ่งรับรู้มาก ก็ยิ่งกังวลมากขึ้น

ผลสำรวจพบว่า 73% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าทราบเรื่องภาษีนำเข้าใหม่ก่อนจะตอบแบบสอบถาม โดยในเวียดนาม ซึ่งได้รับผลกระทบจากอัตราภาษีในระดับสูง ตัวเลขการรับรู้สูงถึง 84% ขณะที่ฟิลิปปินส์ ซึ่งถูกเรียกเก็บภาษีในระดับต่ำกว่า มีอัตราการรับรู้อยู่ที่ 56%

อย่างไรก็ตาม ระดับการรับรู้ไม่ได้หมายถึงความสบายใจ เพราะผู้ตอบแบบสอบถามถึง 72% ระบุว่าตนเอง “ค่อนข้างกังวล” หรือ “กังวลอย่างมาก” ต่อผลกระทบของนโยบายดังกล่าวที่อาจส่งผลต่อชีวิตประจำวัน โดยเวียดนามยังคงแสดงระดับความวิตกสูงสุด โดย 34% ระบุว่ากังวลในระดับมาก

ความกังวลด้านเศรษฐกิจเริ่มก่อตัว

ปัจจัยหลักที่สร้างความวิตก คือความกังวลว่าต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจะไม่หยุดอยู่แค่ระดับประเทศ แต่จะส่งผลถึงราคาสินค้าในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค โดย 90% ของผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่าภาษีนำเข้าจะทำให้ราคาสินค้าทั่วไปสูงขึ้น

ในประเทศไทย ซึ่งมีอัตราภาษีอยู่ที่ 37% มากกว่าครึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามคาดว่าราคาสินค้าจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

กลุ่มสินค้าที่ประชาชนมองว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อาหารและเครื่องดื่ม และรถยนต์

ในสิงคโปร์ 73% เชื่อว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จะได้รับผลกระทบมากที่สุด ขณะที่ในฟิลิปปินส์ 67% ชี้ไปที่กลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม

พฤติกรรมผู้บริโภคกำลังจะเปลี่ยนไป

เมื่อต้นทุนสูงขึ้น ความตั้งใจในการซื้อก็เริ่มเปลี่ยนตาม โดยมากกว่าครึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม ระบุว่า ตนจะหันไปใช้สินค้าในประเทศแทนสินค้านำเข้า โดยในอินโดนีเซีย ตัวเลขนี้สูงถึง 64%

นอกจากนี้ 21% ของผู้ตอบแบบสอบถามในภูมิภาคกล่าวว่า พวกเขาจะลดการซื้อสินค้านำเข้าลงในภาพรวม ซึ่งอาจสะท้อนถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในตลาดผู้บริโภคในระยะยาว

ประชาชนไม่ได้คาดหวังแค่การปรับตัวของตนเอง แต่ยังรวมถึงภาคธุรกิจด้วย หลายคนเชื่อว่าธุรกิจจะพยายามตอบสนองด้วยการออกโปรโมชั่นมากขึ้น (40%) หรืออาจยอมรับต้นทุนบางส่วนไว้กับตัวเอง (35%)
อย่างไรก็ตาม ในสิงคโปร์ กลับมีถึง 59% ที่เชื่อว่าธุรกิจจะผลักภาระต้นทุนให้ผู้บริโภคโดยตรง

ความคาดหวังต่อรัฐบาล

แม้ประชาชนส่วนใหญ่จะรู้สึกกังวลต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น แต่ก็ยังมีความหวังว่ารัฐบาลของแต่ละประเทศจะมีบทบาทในการบรรเทาผลกระทบดังกล่าว โดยนโยบายที่ประชาชนอยากเห็นมากที่สุดคือ นโยบายที่ลดการพึ่งพาสินค้าจากสหรัฐฯ และส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศ บางส่วนต้องการให้มีการจัดสรรเงินอุดหนุน ขณะที่บางคนเสนอแนวคิดการทำข้อตกลงการค้าใหม่ หรือแม้กระทั่งมาตรการภาษีตอบโต้ แม้จะเป็นเสียงข้างน้อยก็ตาม

ความมั่นใจในรัฐบาลของแต่ละประเทศแตกต่างกันออกไป โดยในประเทศไทย มีเพียง 6% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่รู้สึก “มั่นใจมาก” ว่ารัฐบาลจะรับมือกับสถานการณ์นี้ได้ ขณะที่ในเวียดนาม 28% แสดงความมั่นใจในระดับสูง ซึ่งอาจสะท้อนถึงความเชื่อมั่นต่อความสามารถของรัฐในการจัดการความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

สิ่งนี้อาจเป็นจุดเปลี่ยนของภูมิภาค

ท่ามกลางบริบทที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังอยู่ระหว่างการฟื้นตัวจากโควิด-19 การเผชิญกับค่าเงินเฟ้อ และความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ นโยบายภาษีชุดนี้อาจกลายเป็น “จุดเปลี่ยนสำคัญ” ที่ผลักดันให้หลายประเทศต้องปรับแนวทางการดำเนินมาตรการต่าง ๆ อย่างจริงจังมากขึ้น

สิ่งที่เห็นได้ชัดจากข้อมูลชุดนี้คือ ประชาชนไม่ได้แค่ติดตามข่าว แต่กำลัง “เตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง” ที่อาจเกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวัน

จากความหวังอย่างระมัดระวัง ไปจนถึงความไม่ไว้วางใจในอนาคต ภูมิภาคนี้กำลังจับตาทุกการเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด และไม่ใช่แค่ผู้นำประเทศหรือผู้บริหารเท่านั้นที่ต้องเผชิญกับแรงกดดัน แต่ยังรวมถึงประชาชนทั่วไป ผู้ประกอบการรายย่อย และผู้บริโภคในทุกระดับ

พร้อมที่จะยกระดับเกมเชิงลึกของคุณหรือไม่?

Take the first step towards data-driven excellence.
Contact Milieu today.
ขอบคุณเราจะติดต่อกันเร็ว ๆ นี้!
อ๊ะ!มีบางอย่างผิดปกติขณะส่งแบบฟอร์ม
Contact us
__wf_สงวน_มรดก__wf_สงวน_มรดก